การทำแผลและการห้ามเลือด

1.แผลช้ำ

อุปกรณ์

1.แผ่นประคบเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็ง
2.ผ้าพันแผลหรือผ้ายืด
3.แผ่นประคบร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อน

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.ประคบบริเวณนั้นด้วยความเย็นทันที เพื่อให้เลือดออกน้อยลง



2.พันผ้าให้แน่นพอสมควร ให้บริเวณนั้นพักนิ่ง



3.หลังจากนั้น 24 ชั่วโมงถ้ามีช้ำเขียว ควรประคบด้วยความร้อนเพื่อให้ยุบบวม



ข้อควรระวัง !!!

หากไม่มีแผ่นแปะ เมื่อประคบเย็นควรห่อน้ำแข็งหรือ cool pack ด้วยผ้าขนหนูก่อน ไม่ควรให้ร่างกายถูกความเย็นจัดทันที เพราะอาจเกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อ ห้ามประคบบริเวณที่ไม่มีความรู้สึกหรือเนื้อตาย เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อไหม้โดยไม่รู้ตัว

2. แผลมีเลือดออก

อุปกรณ์

1.สำลี
2.น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Sodium Chloride 0.9% )
3.โพวิโดนไอโอดีน(เบตาดีน)
4.พลาสเตอร์ยา(แผลถลอกเล็ก), ผ้าพันแผล(แผลใหญ่)

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.เลือดเป็นสิ่งที่ช่วยทำความสะอาดแผลเบื้องต้น การมีเลือดออกจากแผลเล็กน้อยจึงถือเป็นสิ่งที่ดี


2. การล้างแผล
ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Sodium Chloride 0.9% ) เพื่อขจัดฝุ่นผง และสิ่งสกปรกออกจากแผล ไม่ควรล้างแผลด้วยน้ำ สบู่ แอลกอฮอล์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เนื่องจากจะทำให้แผลแสบระคายเคือง



3. การเลือกยาใส่แผล
แผลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาจใช้ยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอก (topical antiseptic) เช่น โพวิโดนไอโอดีนใส่หลังล้างแผล เพื่อลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อ


4. การใช้พลาสเตอร์ยาหรือผ้าพันแผล
ถ้าแผลมีโอกาสเสียดสีกับเสื้อผ้า ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาหรือผ้าพันแผล การปิดแผลยัง
ช่วยลดโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่แผลอีกด้วย ควรมีการเปลี่ยนพลาสเตอร์ยาหรือผ้าพันแผลทุกวัน
โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 2-4


หมายเหตุ : ไม่แนะนำให้ใช้สำลีปิดแผล เพราะเมื่อแผลแห้ง สำลีจะติดทำให้ดึงออกยาก เกิดความเจ็บปวดและทำให้เลือดไหลได้อีก

ข้อควรระวัง !!!

· ระวังอย่าให้บาดแผลถูกน้ำ
· ไม่ควรแกะหรือเกาบาดแผลที่แห้งตกสะเก็ดแล้วเพราะทำให้เลือดไหลอีกสะเก็ดแผลเหล่านั้นจะแห้งและหลุดออกเอง
พบแพทย์เมื่อมีอาการเหล่านี้
ถ้าเลือดไม่หยุดไหลภายในเวลา 5-10 นาที ถ้าบาดแผลลึกหรือยาวมากกว่าครึ่งนิ้ว ถ้าแผลอยู่ใกล้บริเวณดวงตา ถ้าเป็นแผลฉีกขาดหรือปากแผลเปิดกว้าง ถ้าเป็นแผลจากสิ่งที่เป็นสนิมหรือสกปรก ถ้ามีสิ่งสกปรกติดแผลที่เอาไม่ออก ถ้าถูกสัตว์ต่างๆกัด ถ้าปวดแผลมาก หรือถ้ามีแผลติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์

การห้ามเลือด

อุปกรณ์

1.ถุงมือ
2.ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซหนาๆ
3.ผ้ายืดพันแผล

วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

1.ต้องคํานึงถึงความปลอดภัยของตัวเองก่อนและป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงมือยางหรือหาวัสดุใกล้ตัว เช่น ถุงพลาสติกมาหุ้มมือ เป็นต้น


2. แผลเล็กกดโดยตรงลงบนบาดแผล ถ้าแผลใหญ่ให้ใช้ฝ่ามือกดปลายแผลไว้ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ผ้าสะอาดพับหนาๆ กดลงบนบาดแผล หากเป็นกรณีฉุกเฉินให้ใช้เสื้อหรือผ้าเช็ดหน้า ถ้าไม่มีจริงๆ ให้ใช้ฝ่ามือกดลงไปตรงๆ นานประมาณ 10 นาที


3. หากมีผ้ายืดให้ใช้ผ้ายืดพันทับผ้าที่ปิดกดบาดแผล




4. แต่ถ้าเลือดออกมาก อย่าเสียเวลาทําแผลให้ใช้มือกดบาดแผล พร้อมยกส่วนนั้นให้สูงขึ้นเหนือระดับหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.( 2554).วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีบาดแผลและการห้ามเลือด.สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2561 จากเว็บไซต์ : http://www.thaihealth.or.th/Content/1655 -วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีบาดแผลและการห้ามเลือด.html

Comments